Social Change and Social Innovations

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียนปริญญาเอก สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Social Change and Social Innovations จาก Prof. Ofer Feldman (Professor in Political Psychology and Political Behavior, Doshisha University, Kyoto, Japan) พบประเด็นน่าสนใจถึงหลักการ หลักคิด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และนวัตกรรมทางสังคม รวมไปถึงการขั้นตอนและสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เลยอยากแชร์ให้ทุกคนผ่านบล็อกนี้นะครับ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Changes) เกิดขึ้นได้อย่างไร

Prof. ได้ให้หลักในการมองเกี่ยวกับทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงรูปแบบ (Pattern) ของการเปลี่ยนแปลงซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดมาจาก

  1. Evolutionary: เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก วิวัฒนาการ ทางสังคมที่ถูกเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดการเปลี่ยนแปลง
  2. Functionalist: การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆในสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของครอบครัว, การเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของผู้หญิง เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นไปบนฐานแนวคิดกลุ่ม โครงสร้างนิยม (Functionalism) ที่เชื่อเรื่องของการแบ่งบทบาททางสังคม เพื่อนำไปสู่การจรรโลงให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้
  3. Conflict: การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมในประเด็นต่างๆ ซึ่งความขัดแย้งนั้นกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดสงคราม

นอกจาก 3 ประเด็นข้างต้นแล้ว การแผ่ขยายตัวของทฤษฎีความทันสมัย (modernization) ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมาก ทำให้การจัดการหรือรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีหรือรูปแบบเดิม จึงเป็นเหตุให้ นวัตกรรมทางสังคม ได้เข้ามาเติมเต็มกระบวนการรับมือเหล่านี้ โดยแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovations) แต่เดิมเป็นแนวคิดของภาคธุรกิจที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑื หรือบริการใหม่ๆป้อนเข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

“Social Innovations: New ideas (product, services and models) that simultaneously meet social needs and create new social relationships or collaborations.”

(Mulgan G., et al. (2007) In and Out of Sync: The Challenge of Growing Social Innovations)

ความหมายของนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovations)

นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovations) หมายถึง การนำเสนอหรือลงมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และต้นแบบในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม บนแนวคิดที่แตกต่างจากเดิม และสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางสังคม สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ของปฏิสัมพันธ์ หรือความร่วมมือกันระหว่างคนในสังคม โดยนวัตกรรมทางสังคมที่พัฒนาขึ้นนั้นควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

นวัตกรรม ต้องเป็นสิ่งที่ดี หรือเกิดประโยชน์ต่อสังคม และสามารถส่งเสริมให้คนในสังคมเพิ่มพูนศักยภาพของตนเองในการจัดการ หรือรับมือสถานการณ์ต่างๆทางสังคม

นวัตกรรม ต้องสามารถสร้างคุณค่า (value) ให้เกิดขึ้นกับการดำเนินการของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ และภาคธุรกิจเองได้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ จากการดำเนินการในรูปแบบธุรกิจ มาต่อยอดร่วมจัดการหรือแก้ไขปัญหาทางสังคม

โดยจากประสบการณ์การดำเนินการของนวัตกรรมทางสังคมในหลายประเทศ กว่าพันตัวอย่าง พบว่า นวัตกรรมทางสังคมส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากนวัตกรรมเล็กแบบทางเลือก (margins) แล้วค่อยๆขยายต่อยอดสู่การเป็นแนวทางในการแก้ไข จัดการสถานการณ์ทางสังคมแบบแนวทางหลัก (mainstreams) ตัวอย่างเช่น

  • Neighborhood nurseries and neighborhood wardens.
  • Wikipedia and the Open University
  • Holistic health care and hospices.
  • Microcredit and consumer cooperation.
  • Fair trade movement.
  • Zero-carbon housing development and community.
  • Wind farm; etc.

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้วย Social Innovations นั้นจำเป็นต้องอาศัย “คน” ที่มีความกล้าและมี Ideas ที่แตกต่างแต่สามารถตอบโจทย์การรับมือสถานการณ์ทางสังคมได้

“Change rarely happens without some brave people willing to take risks and take a stand”

โดย Prof. ได้สรุปขั้นตอน (Stages) สำคัญ 4 ขั้นตอน ที่จำเป็นต่อการพัฒนา Social Innovations ดังต่อไปนี้

Social Change and Social Innovations

  1. Generating Ideas by Understanding Needs and Identifying Potential Solutions
  1. Developing, Prototyping, and Piloting Ideas.
  1. Assessing, scaling up, and Diffusing Good Ideas.
  1. Learning and Evolving.

ในช่วงท้ายของการบรรยาย Prof. ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงรูปแบบบางอย่างของปัจจัยที่ทำให้ นวัตกรรมทางสังคมที่พัฒนานั้นๆ สำเร็จหรือ ล้มเหลว (Common pattern of Success and Failure) โดยสามารถแบ่งประเด็นได้ดังนี้

Social Innovations เกิดได้ยาก (strangled at birth) ในสังคมที่มีการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาแบบรวมอำนาจ (monopolized) การพูดคุยหารือแนวทางใหม่ๆถูกยับยั้ง และขาดแหล่งงบประมาณหรือเงินทุนที่เป็นอิสระ

Social Innovations มักเกิดขึ้นเมื่อสังคมถูกวางเงื่อนไขที่เพียงพอ และถูกต้อง ตั้งแต่ระดับของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้คิดเห็นได้ แตกต่างได้อย่างปลอดภัย ทั้งระดับปัจเจกและระดับสื่อ โดยธรรมชาติของการเกิด Innovations นั้นจะเกิดในสังคมที่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้ (Competition) มีวัฒนาธรรมระบบเปิด (Open culture) และผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมได้ (accessible to capital) ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากรัฐท้องถิ่น และรัฐส่วนกลาง

ทำไม Social Innovations ส่วนใหญ่ล้มเหลว?

หลายแนวคิดเป็นแนวคิดที่ดี หากแต่เป็นแนวคิดที่ใช้ต้นทุนสูง หรือยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับแนวคิดทางเลือกอื่นๆที่อาจใช้ต้นทุนและทรัพยากรที่น้อยกว่า หรือการที่นวัตกรรมขาดกลไกในการส่งเสริมเพื่อให้สามารถขยายต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฟังบรรยาย ต้องบอกเลยว่าการสร้างสรรค์ Social Innovations ให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ มาส่งเสริมกัน ทีมเถื่อนเกม เองก็คาดหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Social Innovations ให้เกิดขึ้นกับรูปแบบการเรียนรู้ของคนไทย ให้ขยับจาก teaching by teachers สู่การ collaborative learning by using game

ขอขอบคุณ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ สาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Prof. Ofer Feldman

เรียบเรียงโดย นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์