กม.วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดแล้ว ใช้กลยุทธ์ธุรกิจแก้ปัญหาสังคม / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่: 7 มี.ค. 2562 14:58 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ต่อไปนี้ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย จะมีนิติบุคคลประเภทใหม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อกิจการ

กิจการที่เรียกว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise นั้น นับเป็นนวัตกรรมสังคมแบบหนึ่งของโลกที่เกิดและดำเนินการในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่มีความเจริญก้าวหน้ามากคือ ที่ประเทศอังกฤษ มีประมาณกว่า 70,000 กิจการ

ที่นับเป็นนวัตกรรมทางสังคม เพราะเป็นการใช้รูปแบบและกลยุทธ์เชิงธุรกิจ แต่มีจุดมุ่งหมาย “เพื่อแก้ปัญหาสังคม” เรียกว่า เอาวิธีทำงานแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพของโลกทุนนิยมมาใช้อย่างสร้างสรรค์

ในสภาวะโลกาภิวัตน์ในยุคดิจิทัล ที่โลกไร้พรมแดนและมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ยิ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้การรับรู้และเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตามทันกระแสสากล ด้วยการพัฒนากลไกในการรับมือกับภาวะวิกฤตที่เข้มข้นขึ้นด้วย

อย่างการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ CSR ที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างยอมรับว่าต้องมีจิตสำนึกและแสดงบทบาทในแนวทางที่ดี ทั้งดำเนินการด้วยกลไกของกิจการหรือดำเนินกิจกรรมในนามของมูลนิธิที่จัดตั้งก็ตาม

กม.วิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดแล้ว ใช้กลยุทธ์ธุรกิจแก้ปัญหาสังคม / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

การดำเนินงานในรูปแบบองค์กรนิติบุคคลที่เรียกว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม”ที่เลี้ยงตัวเองได้ จึงเป็นคำตอบเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะไม่ต้องหวังพึ่งแต่เงินบริจาคเหมือนดังการเป็นมูลนิธิ ซึ่งอาจมีความไม่แน่นอน

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้สนใจศึกษาเรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคมมานานแล้ว และมีส่วนสำคัญในการผลักดันจนสนช.ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“กฎหมายนี้สนับสนุนให้คนที่มีจิตใจดีและมีฝีไม้ลายมือในการดำเนินกิจการต่างๆได้มาจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะช่วยจ้างงานผู้มีความต้องการพิเศษ ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม หรือนำเงินรายได้หรือกำไรไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อช่วยคนยากจน คนด้อยโอกาส และคนพิการ” สนช.เฉลิมชัยบอกผมเมื่อเร็วๆ นี้

“ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจากการศึกษาทางด้านวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ การรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนได้มีการแก้ไขปรับปรุงในขั้นตอนต่างๆ จนออกมาเป็น “เครื่องมือนวัตกรรมทางสังคม” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่สลับซับซ้อนและเรื้อรังในสังคมไทยเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหาของส่วนรวมร่วมกัน”

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กฎหมายฉบับนี้ได้เสนอมาโดยรัฐบาล และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนท่วมท้น164-0

ก็คงต้องรอให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมและคณะกรรมการตามกฏหมาย ได้แสดงฝีมือใช้กฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมส่วนรวมต่อไปครับ

เท่ากับว่ามีกฎหมายมารองรับการเกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ SE ในเมืองไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ 24 สิงหาคม 2559 กรมสรรพากรได้ออกเงื่อนไขการสนับสนุนด้วยประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของ SE ไว้ดังนี้

กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมและประสงค์จะใช้สิทธิทางภาษีต้องมีวัตถุประสงค์อย่างน้อย 2 ข้อ

  1. ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
  2. ส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่กิจการ SE ตั้งอยู่หรือต้องการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กิจการ SE มิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เมื่อมีกำไร ให้นำผลกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปลงทุนในกิจการ SE ของตนต่อเนื่อง หรือนำไปใช้ประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาส

สิทธิได้ยกเว้นภาษี มี 3 กรณี

  1. กรณี SE ไม่มีการจ่ายเงินปันผลเลย จะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล ธุรกิจอื่นที่เข้าลงทุนในหุ้นของ SE หรือบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้ SE สามารถนำมูลค่าไปหักเป็นรายจ่ายได้ 1 เท่า (ทั้งนี้ เมื่อหักรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศล ไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายเกิน 2% ของกำไร)
  2. กรณี SE มีการจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 30% ของกำไร จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล แต่ธุรกิจอื่นที่เข้าลงทุนในหุ้นของ SE หรือการบริจาคให้ SE สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1 เท่า
  3. กรณี SE จ่ายปันผลเกิน 30% ของกำไร กรณีนี้ทั้งตัว SE และกิจการอื่นที่มาลงทุนในหุ้นหรือบริจาคให้ SE จะไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีใดๆ

เรามาดูความเห็นจากผู้รู้ดีเรื่อง SE อีกคน ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการวิสามัญ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม สามารถมีเครื่องมือในการทำงานเพื่อสังคมแบบใหม่ที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเหมือนกับบริษัทเอกชน

ขณะเดียวกัน ก็มีเงื่อนไขกำหนดให้ตัวกิจการ SE จะต้องสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact ) จากตัวธุรกิจและลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

เราสามารถมีกลไกที่ช่วยในการจ้างงานและยกระดับคนขาดโอกาสในสังคม เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุยากจน คนตกงานที่ยาวนาน คนไร้บ้าน คนไทยไร้สัญชาติ ให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม แทนที่จะถูกมองว่าเป็นภาระและ รอการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์จากสังคมไปตลอด

suwatmgr@gmail.com

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์